เนื่องจากองุ่นไม่ได้เป็นพืชท้องถิ่น ที่เดิมมีอยู่ในประเทศไทย คนไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงรู้จักแต่การดื่มเหล้า ที่ทำจากข้าวหมักจนได้ที่ เช่น สุราแช่ เท่านั้น เมื่อชาวตะวันตกเดินเรือเข้ามาค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงได้นำองุ่นและไวน์เข้ามา จนกลายเป็นที่รู้จักและเริ่มมีการดื่มไวน์ขึ้นในช่วงนี้ ดังที่ ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกไว้ว่า “ชาวสยามไม่ยึดเอาการดื่มชาเป็นหลักนัก เขาชอบดื่มเหล้าองุ่นมากกว่าถ้ามีให้ดื่ม…” นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า ภายในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา และ พระราชวังลพบุรี อันเป็นที่แปรพระราชฐานนั้น มีการปลูกองุ่น เป็นสวนองุ่นตั้งอยู่ภายในด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบันทึกไว้ว่า มีการปลูกองุ่นในช่วงนี้ แต่เนื่องจากสภาพอากาศในประเทศไทยร้อนจัด ทำให้ต้นองุ่นไม่สามารถเจริญเติบโตงอกงาม และ มีรสชาติที่ดีได้ จึงไม่มีการผลิตไวน์ขึ้นแต่อย่างใด ไวน์ที่มี จึงเป็นไวน์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น เช่น ไวน์จากยุโรป เปอร์เซีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยคนที่ได้ดื่มไวน์นั้น ก็คงเป็นชนชั้นปกครอง พ่อค้า คหบดีผู้มั่งคั่ง หรือ ราชฑูตที่ได้เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ต่างประเทศ เช่น คณะราชทูตของโกษาปาน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นต้น ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง ในช่วงรัชกาลที่ 4 – 5 เป็นต้นมา ไวน์ก็ได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่คนไทย มาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา